“1917” : สงครามโลก
จะว่าม้ามืดก็ไม่ใช่เสียทีเดียว จะว่าหนังดังหนังเต็งมาแต่อ้อนแต่ออกก็คงไม่ใช่เช่นกัน แต่หลังจากหนังสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่อง 1917 พลิกโผ (เล็กๆ) ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมประเภทดราม่าจากเวที Golden Globes เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ทำให้ตอนนี้หนังเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นหนึ่งในสองหรือสามเรื่องแถวหน้าที่น่าจะได้รางวัลออสการ์ Best Picture ที่จะประกาศกันวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้
หนังเรื่องล่าสุดจากผู้กำกับ แซม เมนเดส (American Beauty, Skyfall ฯลฯ) มีกระแสมาบ้างก่อนหน้านี้ว่าเป็นหนังน่าจับตา โดยเฉพาะการที่ 1917 ขายจุดเด่นว่าเป็นหนัง one shot หรือไม่มีการตัดภาพเลยตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ (แต่จริงๆ แล้วตัด เพียงแค่ใช้เทคนิคในการ transition ที่ทำให้ดูเหมือนเป็นช็อตต่อเนื่องยาวเท่านั้น) เมนเดสเคยได้รางวัลออสการ์มาแล้วกับ American Beauty หนังดังจากยุคปี 1999 ได้ทั้ง Best Picture, Best Director และอีกหลายรางวัล หรือว่านี่จะเป็นปีทองของผู้กำกับอังกฤษคนนี้อีกครั้งกับหนังสงครามเรื่องนี้
หนังสงครามโลกมีสร้างกันอยู่ตลอดเวลาแทบทุกปี ส่วนใหญ่จะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียมากกว่า หนังเรื่อง 1917 สร้างจาก “เรื่องเล่า” ของอดีตทหารอังกฤษที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เหตุการณ์เกิดขึ้นในเดือนเมษายนปี 1917 หรือ สามปีหลังจากสงครามอุบัติขึ้น และสถานการณ์การสู้รบในสนามเพลาะแนวหน้าของยุโรปเต็มไปด้วยซากศพและความโหดร้ายจากการต่อสู้ที่ยื้อกันไปมาอย่างไม่มีวี่แววจะยุติ หนังเซ็ทเรื่องขึ้นมาง่ายๆ เลยภายใน 5 นาทีแรก คือนายทหารอังกฤษสองนายชื่อ เบลค กับ สคอฟิลด์ (แสดงโดย ดีนส์ ชาร์ล-แชปแมน และ จอร์จ แมคเคย์) ได้รับคำสั่งจากแม่ทัพให้เดินทางลึกเข้าไปในดินแดนของฝ่ายข้าศึกเยอรมัน เพื่อถ่ายทอดคำสั่งไปยังกองพันที่ปักหลักรอบุกอยู่ที่แนวหน้า ให้ถอนกำลังกลับ เพราะการที่ฝ่ายเยอรมันถอนทัพไปนั้นเป็นเพียงกับดักเพื่อล่อลวง และหากฝ่ายอังกฤษบุกเข้าไปจะสูญเสียเลือดเนื้ออย่างมหาศาล พลทหารเบลค มีพี่ชายที่ประจำการอยู่ในกองพันที่กำลังรอจะบุก ทำให้เขายิ่งมีแรงจูงใจในภารกิจเสี่ยงตายนี้ เพื่อช่วยชีวิตพี่ชายของตน
นี่เข้าสูตรหนังแบบ Mission เต็มๆ ประเภทที่ตัวละครต้องออกเดินทางเพื่อทำภารกิจอันยากเย็น (ลองนึกถึง Saving Private Ryan ก็ได้เพื่อเปรียบเทียบ แต่เรื่องนั้นไปกันหลายคนมากกว่า) สิ่งที่ 1917 พยายามทำให้แตกต่างจากหนังสงครามเรื่องอื่น คือเทคนิคการถ่ายภาพที่ใช้กล้อง Steadycam เดินตามตัวละครสองคนแทบทั้งเรื่อง ตามติดพวกเขาลัดเลาะไปในสนามเพลาะ ข้ามรั้วลวดหนามไปยังสนามรบที่เต็มไปด้วยซากศพ ลงไปยังบังเกอร์ใต้ดิน กลับขึ้นมายังท้องทุ่ง และต่อไปยังเมืองที่ลุกเป็นไฟระหว่างทาง เทคนิคอันลื่นไหลนี้ทำให้ “เวลา” ของหนัง กับ “เวลา” ที่ตัวละครใช้ชีวิตอยู่ เป็นสิ่งเดียวกัน (หนังทั่วไป “เวลา” สองแบบทีว่าจะไม่ตรงกัน เพราะหนังตัดไปตัดมาได้) และทำให้เราเห็นสิ่งที่ตัวละครเห็นไปแทบจะพร้อมๆ กัน
ในทางหนึ่ง เทคนิคนี้ทำให้เราลุ้นไปกับตัวละคร เพราะเราไม่รู้ว่าพวกเขาจะเผชิญกับอะไร เรายังได้หายใจรดต้นคอตัวละครราวกับจะรับรู้ความยากเข็ญในทุกฝีก้าว แต่ในอีกทาง ผู้เขียนรู้สึกว่าเทคนิคนี้ ก้าวล่วงเข้ามาเป็นพระเอกมากไปในหลายๆ ตอนเมื่อหนังดำเนินไป และดึงความสนใจของเราไปอยู่ที่การเคลื่อนกล้องมากกว่า การ “เล่นท่ายาก” ของผู้กำกับภาพ โรเจอร์ ดีกินส์ (เชื่อว่าแกจะได้ออสการ์แน่ๆ) มีทั้งผลดีและผลข้างเคียง การใช้เทคนิคเลียนแบบ one-shot ทำให้หนังที่จะว่าไปแล้วมีพล็อตโหลมากๆ และมีฉากที่ซ้ำซากกับหนังสงครามอื่นๆ กลายเป็นหนังที่ดูสนุกน่าติดตาม แต่อย่างที่ว่า เทคนิคการเคลื่อนกล้องแบบนี้เหมือนเรากำลังเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่วิ่งตามตัวละครไปเรื่อยๆ ลัดเลาะหลบระเบิด และงานดีไซน์ภาพแบบนี้ควรจะทำให้ทุกอย่าง “ดูเป็นธรรมชาติ” หลายๆ ครั้งก็กลับให้ผลตรงกันข้าม
หนังสงครามที่ใช้เทคนิคใกล้เคียงกันกับ 1917 คือหนังฮังการีเรื่อง Son of Saul หนังที่เกิดเหตุในค่ายกักกันชาวยิว และเป็นหนังที่ได้รางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเมื่อปี 2016 ต่างกันตรงที่ Son of Saul ใช้ภาพแคบ ชัดตื้น เพื่อสร้างความอึดอัดและน่ากลัว แต่ 1917 ใช้ภาพกว้างที่เห็นไปไกล และใช้การวางแผนการเคลื่อนที่ที่ซับซ้อนและเทคนิคพิเศษเพื่อสร้างอารมณ์ร่วม ลองดูสองเรื่องนี้เปรียบเทียบอาจจะทำให้เราเห็นแง่มุมทางเทคนิคที่น่าสนใจ
สรุปคือ 1917 เป็นหนังสงครามที่ดูสนุก แพรวพราวด้วยเทคนิค (เกือบเกินไป) และด้วยความที่เป็นหนังสงครามโลกและพูดเรื่องความเสียสละ อันเป็นประเด็นที่ออสการ์ชอบเหลือเกิน ทำให้หนังน่าจะเป็นตัวเลือกที่เย้ายวนสำหรับรางวัลอันแสนจะอนุรักษนิยมรางวัลนี้