“Once Upon a Time in Hollywood” จดหมายรักและนิทานจบสุขฉบับฮอลลีวู้ด

ผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งผู้กำกับ (เกือบ) ทุกคนต่างก็อยากทำหนังที่เล่าเรื่องบ้านเกิดหรือพื้นเพที่เติบโตมากันทั้งนั้นแหละครับ

ดูอย่าง วู้ดดี้ อัลเลน ผู้กำกับวัยเฉียด 90 คนนั้นก็ได้ คุณลุงอัลเลนแกเป็นคนผูกพันกับ นิวยอร์ค ซึ่งเป็นเมืองที่แกเติบโตขึ้นมามากๆ ตลอดชีวิตการทำหนังของแก (ซึ่งมีหนังทุกปี-โดยเฉลี่ย) ก็เลยวนเวียนอยู่ในนิวยอร์ค แมนฮัตตัน เสียเป็นส่วนใหญ่ นานๆ จะแว้บออกไปที่อื่นเสียที ไปยุโรปบ้างหรือเมืองอื่นๆ อย่างแคลิฟอร์เนีย-แอลเอ-ฮอลลีวู้ด บ้าง (เพราะโลเคชั่นในบ้านเกิดนี่ลุงแกน่าจะขุดขูดพล็อตออกมาแบบหมดหม้อหมดไหไม่มีอะไรให้เล่าอีกแล้ว)

หรือที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้ก็คือ Roma หนังรางวัลออสการ์ของ อัลฟอนโซ่ กัวรอง ผู้กำกับชาวเม็กซิโก เรื่องนี้เป็นหนังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความทรงจำและเรื่องราวในอดีตของ กัวรอง ที่มีต่อชีวิตผู้คนในตำบลเล็กๆ ในเมืองเม็กซิโก ซิตี้ อย่าง La Roma ซึ่งก็บอกเล่าภาพชีวิตวัยเยาว์ของคนทำหนังเองได้เป็นอย่างดี อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

กับ เควนติน ทาแรนติโน เองก็เช่นกัน แม้ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง (ราวยี่สิบปีก่อน) เขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กำกับสายคัลต์ที่มีหนังแหวกแนวอย่าง Reservoir Dogs, Pulp Fiction, Kill Bill ตามมาด้วยหนังเรื่องอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย ทาแรนติโน เองก็หนีไม่พ้นการกลับไปเล่าเรื่องสถานที่ที่เติบโตมาอยู่ดีครับ ทาแรนติโน โตขึ้นมาในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อทอร์แรนซ์ ในแคลิฟอร์เนีย ครอบครัวของเขาวนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นั่นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเขาจึงผูกพันกับ “ฮอลลีวู้ด” มากเกินกว่าการเป็นแค่อำเภอหรือตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่ง

ซึ่ง Once Upon a Time in Hollywood ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขานี่แหละครับที่เปรียบเสมือนจดหมายรักที่ ทาแรนติโน เขียนถึงถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง แถมเป็นจดหมายรักที่คนเขียน เขียนออกมาด้วยความรักอย่างลึกซึ้ง เต็มไปด้วยความแพรวพราวและชั้นเชิงเหนือชั้นอีกด้วย ที่สำคัญมีความ “มโน” ในระดับสูงจนไม่น่าแปลกใจที่โปรเจกต์นี้มีชื่อว่า Once Upon a Time in Hollywood ซึ่งมีนัยยะของการเป็นเรื่องเล่าแบบนิทานอันลงเอยด้วยความสุขซึ่งไม่จำเป็นต้องพ้องตรงกับความเป็นจริงเสมอไป

นอกจากนี้เมื่อกางจดหมายรักของ ทาแรนติโน ฉบับนี้ออกอ่านก็จะพบว่ามันได้ฉายภาพของยุคสมัยของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงในช่วงปลายยุค 60’s ต่อ 70’s จากยุคโกลเดนเอจเข้าสู่อยู่นิวเวฟของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จากหนังขาวดำเข้าสู่หนังที่มีสีสัน ซึ่งการเปลี่ยนยุคสมัยในช่วงนั้นทำให้คนเล็กคนน้อยจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทันถูกปล่อยทิ้ง เคว้งคว้าง

และดิ้นรนหาหนทางไปต่อ ทาแรนติโน นำเสนอภาพชีวิตเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจและมีสีสัน ควบคู่ไปกับการนำเสนอเหตุการณ์กรณี ชารอน เทต ที่เกิดขึ้นจริงในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งอย่างที่บอกครับว่านี่คือนิทาน เมื่อเป็นนิทานมันก็ลงเอยด้วยความสุข แม้ผมออกจะรู้สึกใจหวิวๆ ขมๆ ขื่นๆ เล็กน้อยเมื่อรู้ว่าในความเป็นจริงเรื่องราวต่างๆ มันเป็นอย่างไร ลงเอยแบบไหน ซึ่งผมคงเล่าตรงนี้ไม่ได้

อยากให้ไปดูกันนะครับ ดูแล้วกลับมาหาข้อมูลต่างๆ ต่อก็ยิ่งดี แล้วคุณจะเข้าใจว่า ทาแรนติโน สร้าง Once Upon a Time in Hollywood ให้เป็นจดหมายรักฉบับจบสุขที่มันทั้งเศร้าสร้อยและสวยงามอยู่ในคราวเดียวกันได้อย่างไร